และแล้ววันหนึ่งของเช้าวันอาทิตย์ ความคิดคำนึงถึงความรักของผู้คนที่ตัวดิฉันประสบก็ทำให้น้ำตาไหลเอ่อด้วยความตื้นตัน ความรักที่ยิ่งใหญ่ในครอบครัวที่มอบให้กันช่างแจ่มชัดและมั่นคง
คุณแก้ว อายุ 55 ปี ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม มีอาการปวดที่หน้าอกจากมะเร็งที่ลามถึงผิวหนังและต่อมน้ำเหลืองที่หน้าอก ร่วมกับอาการบวมที่แขนขา จากต่อมน้ำเหลืองอุดตัน คุณแก้วไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรกที่เริ่มตรวจพบ ซึ่งถ้าแพทย์ไม่ได้สอบถามก็จะคิดสรุปกันไปคนละทาง ดิฉันลงนั่ง “ฟัง” โดยไม่ขัด
คุณกอบน้องสาวจึงเล่าให้ฟังว่า คุณแก้วเคยรับราชการทำงานในตำแหน่งที่ไม่ใหญ่โต ความที่ไม่ได้แต่งงานและเป็นพี่ใหญ่จึงลาออกแล้วอาสารับหน้าที่ในการดูแลมารดาที่ป่วยแทนน้องๆ ที่มีอาชีพในการทำงานที่มั่นคงกว่า โดยบ้านอยู่ในสวนที่ไม่ไกลจากกรุงเทพมากนักแต่ไม่มีทางรถยนต์สะดวก ซึ่งขณะนั้นคุณแก้วเพิ่งทราบว่าเป็นมะเร็ง แต่ตัดสินใจไม่รับการรักษาและได้อยู่ดูแลมารดา จนกระทั่งมารดาเสียชีวิต คุณแก้วจึงอยู่ในสวนดูแลกิจการแต่ลำพัง เมื่อคุณแก้วมีอาการทุกข์ทรมานจากความปวด น้องสาวที่มีครอบครัวแล้วและยังต้องทำงานเพิ่งทราบเรื่องการป่วยที่คุณแก้วพยายามปิดบังมาตลอดจึงเป็นธุระในการดูแลรักษาพามารับเคมีบำบัดเป็นประจำ โดยคุณกอบยังบอกว่ารักคุณแก้วพี่สาวด้วยความที่คุณแก้วเป็นพี่ที่รักน้องๆ และกตัญญูต่อมารดาโดยไม่คำนึงถึงสุขภาพของตนเอง
“ไม่อยากอยู่แล้ว มันปวดเหลือเกิน แขนขาก็บวม” เป็นประโยคที่คุณแก้วพร่ำบ่นเมื่อเริ่มรับการรักษา แต่เมื่อหายปวด คุณแก้วก็ไม่มีความคิดเรื่องอยากตายอีก แต่ยังร้องไห้อยู่ทุกวันกับพยาบาลที่ให้การดูแล ซึ่งคุณกอบเข้าใจว่า คงเป็นเรื่องอาการปวดและบวม ด้วยความเป็นห่วงจึงขะยั้นขะยอให้ทำตามคำแนะนำที่หมอบอก รวมทั้งการกินไข่ขาวมากๆ เพื่อให้เพิ่มอัลบูมินในเลือด
พยาบาลผู้เป็นห่วงจึงนั่งลงฟังอย่างตั้งใจ คุณแก้วพูดทั้งน้ำตาว่า “ทำไมต้องบังคับกันด้วย เรื่องกินอาหาร กอบเป็นน้องแต่ฉันเป็นพี่….แต่ฉันก็ต้องพึ่งพาให้กอบพามาส่งโรงพยาบาล บ้านฉันน่ะมันอยู่ในสวนที่อยู่ลึกเข้าไป ….” ความรู้สึกที่รู้ว่ามีผู้ที่รักกลับแปรเปลี่ยนเป็นน้อยอกน้อยใจที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อีก สถานภาพการเป็นพี่เปลี่ยนเป็นการเป็นผู้ตามและความรู้สึกอ่อนแอที่ถูกควบคุมทางกาย เช่นเรื่องอาหารโดยผู้ที่มีวัยวุฒิน้อย ทำให้คุณแก้วอัดอั้นตันใจ
ความมีศักดิ์ศรีของการไม่พึ่งพาใครๆที่คุณแก้วเคยมี เริ่มลดลง แล้วครอบครัว ผู้ดูแลคุณแก้วควรทำอย่างไรดี ถ้าคุณเป็นคุณกอบหรือมีพี่น้องที่เป็นมะเร็ง ลองมาเปิดใจแล้วลองทำตามคำแนะนำเหล่านี้
การฟังอย่างตั้งใจ ดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่ไม่น่าเชื่อว่า เรามักไม่ฟังจนจบเรื่อง แต่ด่วนสรุปจากประสบการณ์ของตัวเรา การถามคำถามปลายเปิด และการสะท้อนคำพูดของผู้พูดเป็นเทคนิคเบื้องต้น ที่เราทำให้ผู้ที่เป็นมะเร็งได้ระบายความรู้ลึกในใจ โดยไม่ถูกปิดกั้น เช่นแทนที่คุณกอบจะสรุปเมื่อเห็นคุณแก้วร้องไห้ว่า เป็นเพราะปวด การใช้คำถามปลายเปิด เช่น “มีอะไรอยากบอกมั้ย…” แทนที่จะถามว่า “ทำไมร้องไห้อีกแล้ว …ปวดใช่มั้ย”
การเป็นเพื่อนในทุกเวลา ทำกิจกรรมต่างๆด้วยกัน ที่เคยไปช็อปปิ้ง ไปดูหนัง ฟังเพลง (หรือถ้าไม่เคยก็ย้อนคิดว่าเค้าชอบทำอะไร) กิจกรรมใหม่ๆ เช่น การวาดภาพ การหย่อนใจที่มีการจัดให้ผู้ป่วย ก็เป็นเพื่อนไปด้วย
ทำตัวให้เป็นผู้คิดในเรื่องดี ไม่ได้แปลว่าต้องหัวเราะทั้งวัน หรือต้องหากิจกรรมทำตลอดวัน เพียงมีตัวตน และอยู่กับผู้ที่เรารัก ให้เค้ารู้อยู่ว่าเรารัก (คนไทยเราอาจไม่กล้าเอ่ยว่ารัก แต่ลองพูดสักครั้งกับผู้ที่เรารัก แต่ต้องมาจากใจจริง เราจะรู้ว่า มันช่างซาบซึ้งกับผู้ที่ได้รับฟังยิ่งนัก)
เช่น การพูดว่า “…อยากให้แก้วรู้ว่า กอบเป็นห่วงและยังเป็นน้องของพี่อยู่เสมอ ไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งที่พี่ได้ดูแลคุณแม่มาตลอด กอบขอบคุณมากและรักพี่มากด้วยที่เป็นพี่ที่ดี และกอบจะรักพี่แก้วเสมอ ไม่ว่าจะอีกนานเท่าใด…..”
ใช่แล้ว ความรักที่ยิ่งใหญ่ อบอวลทั่วไป เพียงแต่การเปิดเผยให้ตระหนักรู้ จะทำให้ความน้อยเนื้อต่ำใจ ความอัดอั้นต่างๆ คลี่คลายไปได้ เมื่อผู้ที่เรารักเป็นมะเร็ง เราก็มีหน้าที่สำคัญในการดูแลอย่างเหมาะสมด้วยประการฉะนี้