จีเฮิร์บแคปซูลวัน หมอสมหมาย
สิงหาคม 29, 2021

จีเฮิร์บนำคำแนะนำจากศูนย์มะเร็ง ร.พ.สงขลานครินทร์ เมื่อสงสัยว่าเป็นมะเร็งเราควรทำอย่างไร

sick20male20patient
ปัจจุบันนี้เมื่อผู้ป่วยส่วนหนึ่งตรวจพบตัวเองว่ามีความผิดปกติ เช่น มีก้อนเนื้อหรือมีแผลเรื้อรังหรือได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ว่าอาจจะต้องมีการตรวจเพิ่มเติม เพื่อช่วยวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งหรือไม่นั้น ได้สร้างความวิตกกังวลให้แก่ผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก มีผู้ป่วยหลายคนถึงกับเลิกการตรวจเพิ่มเติมเนื่องจากความกลัว สิ่งเหล่านี้ทำให้การพบของโรคในระยะเริ่มแรกเป็นไปได้ยาก ดังนั้นเมื่อคุณสงสัยว่าเป็นมะเร็งสิ่งที่คุณควรกระทำก็คือ

 

1. ศึกษาความรู้เกี่ยวกับมะเร็งในระบบนั้นๆ  2. มีความมั่นใจว่าอาจจะไม่ใช่มะเร็ง  3. เตรียมใจว่าเป็นมะเร็งจะทำอย่างไร

 

เมื่อแพทย์นัดฟังผลการวินิจฉัยเพื่อเตรียมการรักษาใด ๆ ก็ตาม ข้อควรปฏิบัติที่สำคัญที่สุด คือ ควรพาญาติพี่น้องหรือเพื่อนสนิทไปด้วย เพื่อช่วยกันฟังและเตรียมการในการรักษาให้ถูกต้อง แต่มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่ต้องการให้ญาติของตนเองทราบการวินิจฉัย ต้องการเก็บไว้เป็นความลับและบางครั้งญาติก็ไม่ต้องการให้ผู้ป่วยทราบการวินิจฉัย ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่ถูกต้องค่ะเพราะการรักษาโรคมะเร็งจำเป็นต้องมีความเข้าใจ ช่วยกันดูแลระหว่างแพทย์, ญาติผู้ป่วยและตัวผู้ป่วยเอง เพื่อจะได้เข้าใจสภาวะการณ์ของโรคจะได้ไม่วิตกกังวลจนเกินเหตุ

 

ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อได้รับคำวินิจฉัยแล้วก็มักจะเกิดอาการวิตกกังวลมาก บางรายก็บอกว่าหูอื้อถึงกับฟังอะไรไม่ได้ยินอีกแล้ว มีความรู้สึกกังวลจนกระทั่งเดินออกจากห้องแพทย์ก็จำไม่ได้ว่าตัวเองจะต้องทำอย่างไรต่อไป บางรายก็ไม่ทราบโรคของตัวเอง หรือไม่ทราบว่าโรคของตนเองอยู่ในระยะใด ทำให้เกิดความกังวลมากขึ้น และเป็นที่น่าแปลกใจว่า คนไทยเราส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าที่จะถามหรือแม้กระทั่งว่าได้รับการรักษาจนเสร็จสิ้นแล้ว เช่น ได้ รับการผ่าตัด ได้รับยาเคมีบำบัดแล้วก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งในระยะใด และหากยิ่งทราบความรุนแรงของโรคก็ยิ่งทำให้ผู้ป่วยรับสภาพไม่ได้มากยิ่งขึ้น

 

การบอกการวินิจฉัยโรคมะเร็งแก่ผู้ป่วยโดยตรงเป็นเรื่องยาก เพราะผู้ป่วยมักจะยอมรับไม่ได้ การนำญาติไปด้วยและแพทย์ได้มีโอกาสคุยกับญาติพี่น้อง ก็จะเป็นการดีที่แพทย์จะได้บอกถึงสภาวะโรคที่เป็นจริง ทั้งนี้เพราะการบอกข่าวการเป็นโรคมะเร็งจะทำให้ผู้ป่วยยอมรับสภาพไม่ได้

 

ในผู้ป่วยที่มีความพร้อมควรจะถามแพทย์ว่า ผู้ป่วยเป็นเนื้องอกชนิดไหน อยู่ในระยะใด มีการ แพร่กระจายไปที่อื่นด้วยหรือไม่ และมีโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ มีวิธีการรักษากี่วิธี ซึ่งผู้ป่วยมีสิทธิในการซักถามเกี่ยวกับวิธีการที่ใช้ในการรักษาที่มาตรฐาน หรือวิธีรักษาที่อยู่ในการวิจัย หรือวิธีที่คิดว่าน่าจะได้ผลมากกว่า และมีข้อดีข้อเสียอย่างไร โดยไม่ต้องกลัวหรืออายหรือเกรงว่าแพทย์จะไม่พอใจ ทั้งนี้เพราะจะเป็นประโยชน์สำหรับตัวผู้ป่วยเอง

 

เมื่อท่านได้รับการวินิจฉัยชัดเจนแล้วว่าเป็นโรคมะเร็งและอยู่ระหว่างการรักษา โดยวิธีให้ยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี ท่านควรซักถามแพทย์เกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น อาการมีไข้ อาการท้องเสีย เป็นต้น สำหรับอาการข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น ผมร่วง อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ท่านควรถามว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แล้วเราควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร

 

ดังนั้นเมื่อท่านเป็นโรคมะเร็งหรือสงสัยว่าจะเป็นโรคมะเร็ง ญาติที่ท่านไว้ใจที่สุดก็ควรที่จะไปกับท่าน ดูแลท่าน ระหว่างนั้นแพทย์จะได้อธิบายให้ทราบ ในขณะเดียวกันญาติของท่านก็จะเป็นผู้ที่รู้ข้อมูลของท่านเพื่อจะสามารถอธิบายและให้การดูแลท่านได้ถูกต้องต่อไป

 

หากท่านปฏิบัติตามที่ได้แนะนำข้างต้นแล้ว เชื่อว่าคงช่วยให้ท่านสามารถตั้งสติเพื่อจะเผชิญกับโรคและเข้าใจรายละเอียดของโรค ตลอดจนวิธีการรักษาที่ท่านจะได้รับด้วยจิตใจที่เข้มแข็งได้ในระดับหนึ่ง

ที่มา : ศูนย์มะเร็ง ร.พ.สงขลานครินทร์